จากรายงานการทบทวนเอกสารเรื่อง การดำเนินการทดสอบวัคซีนเอดส์และการเตรียมการทดสอบวัคซีนเอดส์ในประเทศไทย และประเด็นที่ควรพิจารณาในการทดสอบวัคซีนระยะที่ 3 โดยนายแพทย์รัตน์ เชื้อชูวงศ์1 แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มความตัองการอาสาสมัครจากฐานชุมชนที่มีคลินิกทดสอบหลายแห่งดำเนินการไปพร้อมๆ กัน ซึ่งจากรายงานนี้ยังแสดงให้เห็นความชุกของเอดส์ที่มีผลต่อขนาดตัวอย่างสำหรับการทดสอบวัคซีนเอดส์ทดลองในระยะที่ 3 ที่ต้องใช้ตัวอย่างขนาดใหญ่ ที่อาจจะเกิน 20,000 คน ที่ต้องติดตามในระยะยาว และที่เคยทำกันมานั้นต้องลงทุนเป็นจำนวนมาก คณะกรรมการนโยบายเอดส์แห่งชาติจึงมีแนวคิดที่จะให้เตรียมการรองรับตั้งแต่เริ่มต้นในการเตรียมชุมชนและเจ้าหน้าที่ตลอดจนหน่วยงานที่รับผิดชอบในการดูแลสุขภาพ ด้วยการลงทุน โดยเตรียมเกณฑ์เพื่อคัดเลือก ชุมชนและหน่วยงานที่มีความพร้อมที่น่าจะเป็นทางออกที่เป็นไปได้ด้วยการลงทุนที่ต่ำลงกว่าเดิม ความคิดที่จะนำระบบการบริการภายใต้โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 30 บาทรักษาทุกโรคซึ่งได้มีเรื่องของการปฏิรูประบบการจัดเก็บข้อมูลด้วยเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการจัดการฐานข้อมูลสุขภาพชุมชน ซึ่งเชื่อมโยงกันระหว่างระบบการจัดการข้อมูลในระบบบริการสาธารณสุข ในระดับโรงพยาบาลชุมชน (Contracting Unit for Primary Care - CUP) และสถานีอนามัย (ที่พัฒนาเป็น Primary Care Unit - PCU หรือศูนย์สุขภาพชุมชน) ที่มีแนวโน้มว่าจะได้รับการพัฒนาจนสามารถทำหน้าเป็นคลินิกทดสอบวัคซีนหรือเป็นศูนย์ในการเกณฑ์คัดเลือกและติดตามอาสาสมัครในระยะยาว การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและประเมินศักยภาพระบบการจัดการข้อมูลในระบบบริการสาธารณสุข และข้อมูลประชากร เพื่อการคัดสรรจังหวัดและอำเภอที่มีศักยภาพและความพร้อมในการบริหารจัดการการวิจัยแบบติดตามไปข้างหน้าในระยะยาว (cohort) เพื่อเข้าร่วมการศึกษาทดสอบวัคซีนเอดส์ทดลองชนิดป้องกันในระยะที่ 3 (vaccine trial phase III)(2-3)
การประเมินศักยภาพระบบฐานข้อมูล ได้ตั้งสมมติฐานไว้ว่า มีฐานข้อมูลสารสนเทศด้านสุขภาพและประชากรที่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลรายบุคคลได้ตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอและจังหวัด และสามารถติดตามประชากรในพื้นที่ที่เป็นอาสาสมัคร ศักยภาพพื้นฐานเหล่านี้ เมื่อได้รับการเพิ่มเนื้อหาที่จำเพาะสำหรับฐานข้อมูลและการบริหารจัดการที่ต้องใช้สนับสนุน ก็จะทำให้สามารถทำหน้าที่เป็นฐานข้อมูลเบื้องต้นของคลินิกทดลองในโครงการได้
ระเบียบวิธีวิจัย รูปแบบการศึกษาเป็นแบบเชิงคุณภาพ ประกอบด้วยตัวอย่างจาก 4 จังหวัดที่ถูกคัดเลือกมาอย่างเจาะจงตามเกณฑ์ ดังนี้ เกณฑ์เบื้องต้นในการเลือกสถานบริการในระดับอำเภอและตำบล สถานบริการที่อยู่ในอำเภอที่มีอัตราการติดเชื้อเอชไอวีในระดับต้นๆ ของจังหวัด โรงพยาบาลชุมชนที่มีขนาดใหญ่ มีความสนใจในการพัฒนาระบบบริหารและบริการสาธารณสุข ตามแผนหลักประกัน สุขภาพถ้วนหน้าและมีการจัดการให้มีฐานข้อมูลประชากรอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ จังหวัดที่เป็นตัวแทนของแต่ละภาคได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ นครสวรรค์ อุบลราชธานี และนครศรีธรรมราช มีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่พฤษภาคม พ.ศ. 2545 ถึง พฤษภาคม พ.ศ. 2546 หน่วยงานในระบบสาธารณสุขจังหวัดที่เลือกเป็นหน่วยงานตัวอย่างครั้งนี้ ประกอบด้วย จังหวัดละ 2 CUP และ CUP ละ 2 PCU
วิธีการเก็บข้อมูล โดยใช้แบบสอบถามที่เป็น check list สัมภาษณ์และสังเกตการณ์ที่สร้างขึ้นโดยทีมวิจัย โดยอิงมาตรฐานของ data management unit(2-4) ครอบคลุมในเรื่องฐานข้อมูลประชากรซึ่งต้องมีครบทุกด้านในแฟ้มสุขภาพครอบครัวและเป็นปัจจุบัน เนื้อหาของทรัพยากรบุคคลากรได้แก่บุคลากรได้ผ่านการอบรมการจัดการฐานข้อมูล มีความตั้งใจและใฝ่รู้ ได้รับการสนับ¬สนุนจากองค์กร ในเรื่องของทรัพยากรด้าน hardware และsoftware พิจารณาในเรื่องการลงทุนและสนับสนุนด้าน hardware และ software ตลอดจนการดูแลปรับปรุง software ให้ทันสมัย และมีระบบรองรับมากกว่าหนึ่งระบบ การไหลเวียนของข้อมูลสามารถเรียกสืบค้นได้จากระดับบนลงล่าง ภาพรวมของระบบฐานข้อมูลมีการจัดการสำรองข้อมูล การรักษาความปลอดภัยและความลับของข้อมูล การวัดศักยภาพดังกล่าวที่จะรองรับการวิจัยคลินิกที่มีมาตรฐานตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้ 5 ระดับ คือ ระดับ 5 ดีมาก มีความต้องการการพัฒนาเพิ่มเพียงร้อยละ 10 เพื่อเป็นคลินิกมาตรฐาน ระดับ 4 ดี มีความต้องการการพัฒนาเพิ่มเพียงร้อยละ 30 เพื่อเป็นคลินิก มาตรฐาน ระดับ 3 ปานกลาง มีความต้องการการพัฒนาเพิ่มอีกร้อยละ 50 เพื่อเป็นคลินิกมาตรฐาน ระดับ 2 พอใช้ มีความต้องการการพัฒนาเพิ่มอีกร้อยละ 70 เพื่อเป็นคลินิกมาตรฐาน ระดับ 1 พอใช้ได้เป็นบางส่วน มีความต้องการการพัฒนาเพิ่มอีกร้อยละ 90 เพื่อเป็นคลินิกมาตรฐาน
ผลการศึกษา ในระดับจังหวัด (แผนมิที่ 1) พบว่า 4 จังหวัดที่ศึกษาในเรื่องของความสมบูรณ์ของข้อมูลประชากร และความสมบูรณ์ของระบบฐานข้อมูลอยู่ในเกณฑ์ดีเพียง 2 จังหวัด ยังคงมีปัญหาในเรื่องของการไหลเวียนของข้อมูล ซึ่งเกี่ยวข้องกับความสมบูรณ์ของระบบ ถ้าระบบได้รับการพัฒนาปรับปรุงดีขึ้น การไหลเวียนของข้อมูลก็จะดีตามไปด้วย 3 จังหวัดที่ผู้บริหารให้ความสำคัญในเรื่องของทรัพยากรที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ให้การสนับสนุนและส่งเสริมบุคลากรไปเพิ่มพูนความรู้ และยังสนับสนุนในส่วนของงบประมาณสำหรับ hardware และ software
 ในระดับของ CUP (แผนภูมิที่ 2) ที่ทำการศึกษาทั้งหมด 8 CUP มี 5 CUP ที่ ความครบถ้วนของฐานข้อมูลประชากรและอยู่ในเกณฑ์ที่ดีถึงดีมาก 6 CUP ที่ทรัพยากรบุคลากร อยู่ในเกณฑ์ดีขึ้นไป มีเพียง 3 CUP ที่มี hardware และ software อยู่ในระดับที่ดีถึงดีมาก อย่างไรก็ตามมีเพียง 2 CUP ที่ภาพรวมของระบบและการไหลเวียนอยู่ในเกณฑ์ที่ดีมาก จำนวน CUP มากกว่าครึ่งหนึ่งที่ศักยภาพอยู่ในเกณฑ์ต้องการแก้ไขเพิ่มเติมมากกว่าร้อยละ 60

จำนวน 2 ใน 16 PCU ที่ศึกษา (แผนภูมิที่ 3) ที่ฐานข้อมูลอยู่ในเกณฑ์ดี มี 3 PCU ที่ทรัพยากรด้านบุคลากรอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ hardware และ software การไหลเวียนของข้อมูลยังไม่อยู่ในเกณฑ์ดี โดยภาพรวมของระบบมีเพียง 2 PCU ที่ใช้ได้

ความพร้อมของระบบฐานข้อมูลของ 4 จังหวัดที่มีความพร้อมมากกว่าร้อยละ 50 มีอยู่ 2 จังหวัด เมื่อพิจารณาภาพรวมทั้งหมดพร้อมๆกันดังแสดงใน ตารางที่ 1 ภาพรวมของความพร้อมตั้งแต่ระดับจังหวัดต่อลงมายัง CUP จนถึง PCU ที่ต้องมีการปรับปรุงเพิ่มเติมน้อยกว่าร้อยละ 50 มีเพียง 1 CUP และมีเพียง 1 PCUภายใต้ CUP ที่มีความพร้อมนี้

วิจารณ์ เนื่องจากในช่วงระยะเวลาที่ลงไปสำรวจ ยังเป็นช่วงเริ่มต้นของการปรับเปลี่ยนระบบบริการสุขภาพชุมชนจากรูปแบบเดิมมาอยู่ภายใต้นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 30 บาท ระบบข้อมูลของจังหวัดยังอยู่ในระหว่างการปรับปรุงโครงสร้างทั้งทรัพยากรและระบบที่จะเลือกใช้ การทำความเข้าใจระหว่าง CUP และ PCU การส่งถ่ายข้อมูล จาก PCU มาสู่ CUP และสาธารณสุขจังหวัดยังคงยึดรูปแบบเดิม กล่าวคือทำการสรุปรวมยอดรายงานมาส่ง ส่วนรายละเอียดของประชาชนยังคงเก็บอยู่ที่ระดับล่าง การที่ระดับบนจะทำการเรียกดูสืบค้นข้อมูลโดยตรงลงมาที่ระดับล่างยังทำไม่ได้อันเนื่องมาจากความไม่พร้อมของบุคลากร software และ hardware ปัญหาที่พบอีกประการหนึ่งคือข้อมูลประชากรยังอยู่ในแฟ้มกระดาษไม่ได้บันทึกเข้าไปเก็บไว้ใน คอมพิวเตอร์ การบันทึกเข้าคอมพิวเตอร์เป็นเฉพาะข้อมูลการใช้บริการเพื่อนำไปคิดค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ยังพบว่า CUP ใดที่เคยมีการร่วมงานวิจัยทางคลินิกมาก่อน จะมีศักยภาพที่อยู่ในระดับดี เช่นเดียวกันกับในระดับจังหวัด จังหวัดใดที่มีโครงการวิจัยจากต่างประเทศมาตั้งฐานวิจัย ก็มีศักยภาพอยู่ในระดับดีด้วย ประการสำคัญคือผู้บริหารได้ตระหนักถึงความสำคัญของระบบฐานข้อมูลและการเชื่อมโยงข้อมูลจากระดับล่างสู่ระดับบน และการย้อนกลับของข้อมูลมากน้อยเพียงใด หนึ่งใน CUP ที่อยู่ในตัวอย่างการศึกษาครั้งนี้ พบว่าผู้บริหาร CUP เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องคอมพิวเตอร์และระบบฐานข้อมูล มีระบบที่ค่อนข้างสมบูรณ์ในการเชื่อมโยง PCU และ CUP และจาก CUP สู่จังหวัดได้ ยังสามารถทำให้เกิดกลุ่มเครือข่ายที่ใช้ระบบฐานข้อมูลเดียวกันด้วย สรุปได้ว่าใน 4 จังหวัดมีเพียงจังหวัดเดียวที่มีความพร้อมอยู่ในเกณฑ์ดี ในระดับของ CUP กับ PCU เดียวกันที่สามารถเชื่อมโยงจากระดับบนสู่ล่างได้เป็น PCU ที่อยู่ในเขตของโรงพยาบาล ส่วน PCU ที่อยู่นอกโรงพยาบาลยังไม่สามารถเชื่อมโยงให้เกิดการไหลเวียนของข้อมูลได้
กิตติกรรมประกาศ งานวิจัยนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานการประเมินศักย-ภาพระบบบริหารและระบบบริการสาธารณสุข และข้อมูลประชากร ในการเข้าร่วมทดสอบวัคซีนเอดส์ ทดลองชนิดป้องกันในระยะที่ 3 : ซึ่งได้รับทุนสนับ¬สนุนจากกลุ่มงานเอดส์ กองควบคุมโรค ผู้วิจัยขอขอบ พระคุณแพทย์หญิงเยาวรัตน์ ปรปักษ์ขาม และทีมงานประเมินศักยภาพตลอดจนผู้ให้ข้อมูลในระดับท้องถิ่นทุกท่าน
เอกสารอ้างอิง 1. รัตน์ เชื้อชูวงศ์. รายงานการทบทวนเอกสารเรื่อง การดำเนินการทดสอบวัคซีนเอดส์และการเตรียมการทดสอบวัคซีนเอดส์ในประเทศไทย และ ประเด็นที่ควรพิจารณาในการทดสอบวัคซีนระยะที่ 3 และประเด็นที่ควรคำนึงถึง หากวัคซีนที่กำลังทดสอบอยู่นี้ได้รับการขึ้นทะเบียน. ศูนย์ประสานการพัฒนาและประเมินผลวัคซีนโรคเอดส์ กองโรคเอดส์ มีนาคม 2545. 2. McFadden ET. Data management and coor¬dination. In: Redmond C, Colton T, editors. Biostatistics in clinical Trials. London: Wiley & Sons; 2001. p.158-67. 3. George SL. Audit and quality control (9-12). In: Redmond C, Colton T, editors. Biostatis¬tics in clinical Trials. London: Wiley & Sons; 2001. p. 9-12. 4. Halloran EM. Vaccine studies. Redmond C, Colton T, editors. Biostatistics in Clinical Trials. London: Wiley & Sons; 2001. p. 479-86.
|